น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ทรงหว่านข้าว ณ เกษตรกลาง บางเขน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489
ประเทศไทย มีภูมิปัญญาอันเนื่องมาจากการปลูกข้าวและมีข้าวเป็นอาหารหลัก สืบมาเป็นเวลาช้านาน ในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ เนื่องจากวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระอนุชา (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9)ทอดพระเนตรการทำนาและกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งได้ทรงหว่านข้าวด้วยพระองค์เองในแปลงนาหลังตึกขาว (ปัจจุบันคือตึกพืชพรรณของกรมวิชาการเกษตร) ณ เกษตรกลางบางเขน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานต่อพสกนิกรชาวไทยและข้าวไทย เป็นวาระสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ของกิจกรรมข้าวไทย และยังเป็นพระราชกรณียกิจสุดท้ายในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ที่คนไทยขอน้อมเกล้า ฯ รำลึกถึง
ต่อมา วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เป็นวันรัฐพิธี โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติ โดยจะมีพิธีถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 8 ดังนั้น วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2558 จึงถือว่าเป็นวันรัฐพิธีเป็นปีแรก โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะพร้อมใจกันมาวางพวงมาลา ถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ณ บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 8
พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมืองไฮเดลเบอร์ก ประเทศเยอรมนี เป็นพระราชโอรสพระองค์แรก ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีสมเด็จพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ และสมเด็จพระอนุชา 1 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ ทั้งงานพระราชพิธี งานรัฐพิธี งานด้านการศาสนาและการศึกษา เสด็จพระราชทานปริญญาบัตรที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสด็จเยี่ยมโรงพยาบาล หน่วยทหาร สถานที่สำคัญต่างๆ และทรงริเริ่มประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในชนบท โดยเริ่มในจังหวัดและอำเภอใกล้ๆ กรุงเทพฯ เช่น จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม ปากเกร็ด
พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งและมีผลระยะยาว คือ การเสด็จเยี่ยมชาวจีนในย่านสำเพ็ง พระนคร ซึ่งถือเป็นการเสด็จเยี่ยมราษฎรครั้งแรก โดยเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชา เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2489 การเสด็จเยี่ยมชาวจีนที่สำเพ็งครั้งนั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง เพราะทำให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างชาวจีนและชาวไทยที่มีมาก่อนหน้านั้นหายไป
พระราชกรณียกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในการตรวจพลสวนสนามของกองทัพสัมพันธมิตรพร้อมด้วย ลอร์ด หลุยส์ เมาน์ตแบตตัน ณ ท้องสนามหลวงและถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทย ยังเป็นเอกราชมิได้ถูกยึดครองโดยฝ่ายสัมพันธมิตร
พระราชกรณียกิจสุดท้ายของพระองค์ที่มีความสำคัญต่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คือ การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรที่บางเขน และได้ทรงหว่านข้าว ณ แปลงสาธิตที่สถานีเกษตรกลางบางเขน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร มีกำหนดจะเสด็จกลับไปมหาวิทยาลัยโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เพื่อทรงทำปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ที่ยังค้างอยู่ให้สำเร็จ แต่ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489
ประวัติศาสตร์บอกเล่า (Oral History) จากการสัมภาษณ์บูรพาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ศาสตราจารย์กิตติคุณ คุณชวนชม จันทระเปารยะ อดีตหัวหน้าภาควิชาคหกรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2540 สรุปได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จฯพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาเพื่อทอดพระเนตรกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489 โดยเสด็จฯเยี่ยมตึกเคมี (ตึกสัตวบาล ปัจจุบันคือตึกหอประวัติ มก.) เพื่อพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้อาจารย์ ข้าราชการ และนิสิตเฝ้าฯ และพระราชทานพระบรมราโชวาท แล้วเสด็จฯต่อไปยังสโมสรข้าราชการ จากนั้นประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังตึกขาว (ตึกพืชพรรณ) และเสวยพระกระยาหารที่นั่น..ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 เสด็จฯ ลงยังชั้นล่างเพื่อทอดพระเนตรการแสดงเกี่ยวกับการเกษตร แล้วเสด็จฯไปนาทดลองซึ่งอยู่หลังตึก ทรงหว่านข้าวและพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ราษฎรทูลเกล้าฯถวายของแล้วเสด็จฯกลับ
วันที่ 5 มิถุนายน วันสำคัญของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และของชาติ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันอุดมศึกษาที่มีการเรียนการสอนทางด้านการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย มีภารกิจสำคัญในงานสอนงานวิจัยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์และการเพิ่มมูลค่าเกี่ยวกับข้าวมาโดยตลอด การจัดกิจกรรมอันเนื่องด้วยการส่งเสริมการเกษตร จึงนับเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความเป็นศาสตร์แห่งแผ่นดินของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง และ ในวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสำคัญยิ่งของชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในอดีตได้ถือเอาวันที่ 5 มิถุนายนของ ทุกปีเป็นวันต้อนรับน้องใหม่ (เริ่มปีใดไม่ปรากฏหลักฐาน) เนื่องจากเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ พระมหากษัตริย์ไทย คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และสมเด็จพระอนุชา ได้เสด็จ ฯ เยี่ยมชมกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นครั้งแรก จึงถือว่าวันนี้เป็นวันสิริมงคลในการจัดงานต้อนรับน้องใหม่ ไม่ว่าวันที่ 5 มิถุนายนจะตรงกับวันใดก็ตาม ถ้าตรงกับวันธรรมดามหาวิทยาลัยต้องหยุดเรียน 3 วัน คือ วันที่ 4 มิถุนายน เป็นวันเตรียมงาน วันที่ 5 เป็นวันพิธี และวันที่ 6 เป็นวันเก็บงาน ถือเป็นประเพณีต้อนรับน้องใหม่ในยุคนั้นและได้ถือปฏิบัติกันสืบเนื่องต่อมาจนถึงปี พ.ศ. 2502 จึงได้เปลี่ยนเป็นวันใดก็ได้ที่เป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์ เพราะเป็นการสะดวกสำหรับนิสิตที่ไม่ต้องหยุดเรียน ซึ่งปัจจุบันวันรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้ปรับเปลี่ยนไปตามระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย และระบบเปิดปิดภาคการศึกษาใหม่ตามประชาคมอาเซียน จวบจนปัจจุบันด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ทำให้มีการรับน้องใหม่และจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ 100 %
เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในครั้งนั้น มิได้เลือนหายไปจากความทรงจำของชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ยังคงฝังแน่นไว้ด้วยความจงรักภักดีและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระมหากษัตริย์ไทยทั้ง 2 พระองค์ ได้เสด็จ ฯ เยี่ยมชมกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ทรงหว่านข้าว ณ เกษตรกลาง บางเขน เพื่อเป็นการสืบทอดพระราชปณิธานของพระมหากษัตริย์ไทย ที่ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ ชมรม มก.อาวุโส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันจัดงานทำบุญถวายเป็นพระราชกุศล ในวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี โดยใช้ชื่องานว่า “งานวันรำลึกพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงหว่านข้าว ณ เกษตรกลางบางเขน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489 โดยจัดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2546 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ที่ได้พระราชทานความสำคัญต่อภาคการเกษตรและข้าว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของประเทศไทยเสมอมา
ขอเชิญผู้สนใจร่วมชมนิทรรศการออนไลน์ วันที่ 5 มิถุนายน วันสำคัญของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์และของชาติ ได้ที่ http://158.108.80.14/pic-exhibition.php?id=7
24 มิถุนายน 2567
2 มีนาคม 2567
ในหัวข้อ “Sustainovation: Resource Research Revalue”
ระหว่างวันที่ 7-24 กรกฎาคม 2566