ขอเชิญส่งผลงานวิจัยเข้าร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติ IBD2025 “ความหลากหลายทางชีวภาพกับมนุษยชาติในยุควิกฤตโลก”
ในยุคที่มนุษยชาติกำลังเผชิญกับวิกฤตโลกรอบด้าน ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติ โรคระบาด การขาดแคลนอาหาร และการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม “ความหลากหลายทางชีวภาพ” จึงมิใช่เพียงเรื่องของธรรมชาติ หากแต่เป็นรากฐานของการอยู่รอดของมนุษย์ในทุกมิติ ตั้งแต่ความมั่นคงทางอาหารและทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพ เศรษฐกิจ ไปจนถึงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ความหลากหลายของชนิดพืช สัตว์ จุลินทรีย์ และระบบนิเวศที่สมบูรณ์ คือองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยให้มนุษย์สามารถปรับตัว ฟื้นตัว และดำรงอยู่ได้ แม้ในสภาวะวิกฤต การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำพาให้มนุษยชาติฝ่าวิกฤตและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกัน
ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ สำนักงานวิจัยแห่งชาติ และหน่วยงานพันธมิตรด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา มูลนิธิสวนหลวง ร.9 จึงกำหนดจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ International Conference on Biodiversity: IBD2025 ระหว่างวันที่ 5 – 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2568 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิดหลัก “ความหลากหลายทางชีวภาพกับมนุษยชาติในยุควิกฤตโลก” (Biodiversity and Humanity in Global Crisis ) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา ในปี พ.ศ. 2568 และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างประชาคมนักวิจัยของไทยและต่างประเทศ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านการอนุรักษ์ การป้องกันการฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์ จากความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนเพื่อหาแนวทางความร่วมมือในระดับสากล
จึงขอเชิญนักวิจัย นักวิชาการ นิสิตนักศึกษาร่วมส่งบทคัดย่อผลงานวิจัยเพื่อนำเสนอในรูปแบบการบรรยาย (Oral Presentation) และ โปสเตอร์ (Poster Presentation) ใน 6 หัวข้อหลักของการประชุมได้แก่
Session 1: Biodiversity and Food Security (ความหลากหลายทางชีวภาพกับความมั่นคงทางอาหาร)
Session 2: Biodiversity and Health (ความหลากหลายทางชีวภาพกับสุขภาพ)
Session 3: Biodiversity and Tourism (ความหลากหลายทางชีวภาพกับการท่องเที่ยว)
Session 4: Biodiversity and Environmental Rehabilitation (ความหลากหลายทางชีวภาพกับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม)
Session 5: Biodiversity and Cultural Conservation (ความหลากหลายทางชีวภาพกับการอนุรักษ์วัฒนธรรม)
Session 6: Biodiversity Management to Overcome Global Crisis (การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อก้าวข้ามยุควิกฤตโลก) เปิดเฉพาะการนำเสนอภาคโปสเตอร์เท่านั้น
กำหนดเปิดรับบทคัดย่อผลงานวิจัยออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน พ.ศ. 2568 ลงทะเบียนเข้าร่วมงานออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 15 กันยายน พ.ศ. 2568 โดยสแกนผ่านQR Code ในโปสเตอร์ที่แนบมาด้วยนี้
นอกจากการนำเสนอผลงานแล้ว ภายในงานยังมีกิจกรรมวิชาการและนิทรรศการที่น่าสนใจ อาทิ การบรรยายพิเศษโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากนานาชาติ การเสวนาเชิงวิชาการ (Plenary Discussion) นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ นิทรรศการจากหน่วยงานรัฐ เอกชน และชุมชน การศึกษาดูงานพื้นที่สีเขียวในเมือง (Conference Excursions)
ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและติดตามรายละเอียดได้ที่
.
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เตรียมพร้อมจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ
International Conference on Biodiversity: IBD2025
เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2568 ณ ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานการประชุม ศาสตราจารย์ ครศร ศรีกุลนาถ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและความเป็นสากล และในฐานะหัวหน้าโครงการจัดประชุมวิชาการนานาชาติ International Conference on Biodiversity : IBD2025 ได้นำเสนอโครงการและสาระสำคัญของการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ IBD2025 ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพหลักจัดการประชุม ร่วมกับ สำนักงานวิจัยแห่งชาติ โดยมีหน่วยงานเกี่ยวข้องด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ ร่วมจัดงาน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา มูลนิธิสวนหลวง ร.9 กำหนดจัดการประชุม ระหว่างวันที่ 5 - 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2568 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา ในปี พ.ศ. 2568 และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างประชาคมนักวิจัยของไทยและต่างประเทศ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพในมิติต่าง ๆ ทั้งงานวิจัยและวิชาการ การอนุรักษ์ การป้องกันการฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์ จากความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนเพื่อหาแนวทางความร่วมมือในระดับสากล
กิจกรรมประกอบด้วย การประชุม สัมมนา (International Oral and Poster) การบรรยายจากวิทยากรทั้งในและต่างประเทศ Panel discussion: การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพกับการก้าวข้ามยุควิกฤตโลก การนำเสนอผลงานภาคบรรยายและโปสเตอร์ การจัดนิทรรศการ (Exhibition) ได้แก่ นิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ นิทรรศการจากหน่วยงานเจ้าภาพหลัก และเจ้าภาพร่วม นิทรรศการจากหน่วยงานภาครัฐ/เอกชน/ชุมชน การศึกษาดูงาน Conference Excursions พื้นที่สีเขียวในเมือง ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง ปตท. เขตประเวศ กรุงเทพฯ และ สวนหลวง ร.9
การประชุมวิชาการนานาชาติ International Conference on Biodiversity : IBD2025 จัดขึ้นภายใต้แนวคิดหลัก คือ “ความหลากหลายทางชีวภาพกับความอยู่รอดของมนุษยชาติยุควิกฤตโลก” ประกอบด้วย 6 หัวข้อ ดังนี้
Session 1: Biodiversity and Food Security (ความหลากหลายทางชีวภาพกับความมั่นคงทางอาหาร)
Session 2: Biodiversity and Health (ความหลากหลายทางชีวภาพกับสุขภาพ)
Session 3: Biodiversity and Tourism (ความหลากหลายทางชีวภาพกับการท่องเที่ยว)
Session 4: Biodiversity and Environmental Rehabilitation (ความหลากหลายทางชีวภาพกับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม)
Session 5: Biodiversity and Cultural Conservation (ความหลากหลายทางชีวภาพกับการอนุรักษ์วัฒนธรรม)
Session 6: Biodiversity Management to Overcome Global Crisis (การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อก้าวข้ามยุควิกฤตโลก)
23 พฤษภาคม 2568