# ความเป็นมาและแนวทาง
# รูปแบบของ e-University
# การพัฒนาไปสู่การเป็น
e-University
  การประชุมอิเล็กทรอนิกส์
      (e-Meeting)
  ระบบสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์
      (e-Office)
  ระบบการเรียนอิเล็กทรอนิกส์
      (e-Learning)
  ข่าวอิเล็กทรอนิกส์ (e-News)
  ไวร์เลสแคมปัส
      (Wireless Campus)
  บริการอิเล็กทรอนิกส์
      (e-Service)
  การสร้างฐานข้อมูลงานวิจัย
      (e-Publication)
  ข่าวสารการเกษตร (e-Ag)
  ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
      (e-Library)
  พัฒนา/ปรับปรุงระบบฐานข้อมูล
      เพื่อสนับสนุนงานบริหาร
      (e-Mis)
  พัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อม
     ด้านไอที (e-Personal)
  พัฒนาอาจารย์ให้มีความพร้อม
     ด้านไอที (e-Teacher)
  ปรับปรุงและขยายเครือข่าย
     ของมหาวิทยาลัย (e-Campus)
# แผนการดำเนินการในระยะต่อไป
 

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีนโยบายในการพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่มหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์ (e-University) ที่สมบูรณ์แบบ จึงได้วางเครือข่ายโครงสร้างและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในทุกหน่วยงานและทุกวิทยาเขตให้มีความพร้อมในการรองรับการเป็น e-University โดยมีนโยบายในการบริหารโครงสร้างและระบบดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม กิจการนิสิต และการบริหารจัดการอย่างเต็มศักยภาพ อันเป็นยุทธศาสตร์ของการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว
การดำเนินงานเพื่อพัฒนาไปสู่มหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ดำเนินการไปแล้วคือ การวางโครงสร้างเครือข่ายสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้งในวิทยาเขตบางเขนและวิทยาเขตต่าง ๆ โดยได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนในปี พ.ศ. 2546 รวม 34.5 ล้านบาท และมหาวิทยาลัยได้เตรียมงบประมาณรองรับการวางโครงสร้างเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไว้แล้วรวมกว่า 192 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยได้วางระบบเครือข่ายสำนักงานอัตโนมัติ (Office Automation) และเริ่มใช้ระบบสำนักงานอัตโนมัติในหน่วยงานต่าง ๆ แล้ว ดำเนินการบริหารการประชุมโดยเริ่มระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) ในการประชุมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ทั้งการประชุมคณะอนุกรรมการ พลเรือนในมหาวิทยาลัย (อกม.) การประชุมคณบดี และการประชุมสภามหาวิทยาลัย เพื่อลดปริมาณการใช้เอกสาร ประหยัดค่าใช้จ่ายและเพื่อความสะดวกรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการวางระบบโครงสร้างเครือข่ายไร้สาย (Wireless Networking System) ในคณะ สำนัก สถาบัน และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็น Wireless Campus ซึ่งได้ดำเนินการแล้วหลายหน่วยงาน เช่น สำนักบริการคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สำนักงานอธิการบดี และล่าสุดได้ติดตั้งและเริ่มให้บริการ ณ สำนักหอสมุดแล้ว
ในด้านการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้พัฒนาและเชื่อมโยงฐานข้อมูลและดำเนินการลงทะเบียน On-line ผ่าน Web ดำเนินการเชื่อมโยงระบบการเรียนการสอนทางไกล (Tele-education) ระหว่างวิทยาเขต มีการพัฒนาสื่อการสอนและรายวิชาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Courseware) ปรับปรุงการให้บริการห้องสมุดไปสู่การเป็น e-Library อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ในการสืบค้นและการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นวิธีการให้บริการแบบ e-Service นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงระบบการยืมหนังสือระหว่างวิทยาเขตเพื่อการบริหารและใช้ประโยชน์ทรัพยากรร่วมกันให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังได้ร่วมกับทบวงมหาวิทยาลัยในการพัฒนาเครือข่าย Uninet เป็น EdNet ซึ่งเป็นเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศภายใต้โครงสร้างใหม่ของการปรับเปลี่ยนระบบราชการที่รวมทบวงมหาวิทยาลัยและกระทรวงศึกษาธิการเข้าด้วยกัน อีกทั้งยังร่วมกับทบวงมหาวิทยาลัยในการพัฒนาโปรแกรม เพื่อเอื้ออำนวยให้บุคลากรสามารถพัฒนาสื่อการสอนและรายวิชาต่าง ๆ เป็น โฮมเพจรายวิชา ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อผู้สนใจศึกษาและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
เนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่ประชาคมและการติดต่อสื่อสารระหว่างกันเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญ มหาวิทยาลัยจึงได้พัฒนาระบบการให้ข้อมูลข่าวสารบนเครือข่ายนนทรี (NontrNet) อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังดำเนินการให้มีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Mail) สำหรับนิสิตเก่า ตลอดชีพ เพื่อสร้างเครือข่ายกับนิสิตเก่า อันเป็นการเชื่อมโยงระหว่างนิสิตเก่ากับมหาวิทยาลัย และการดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกัน โดยสร้างระบบ Server ใหม่ สำหรับรองรับนิสิตเก่าที่มีกว่าหนึ่งแสนคน และให้บริการด้านต่าง ๆ โดยสำนักบริการคอมพิวเตอร์ร่วมดำเนินการ
งานด้านการดำเนินการระบบข้อมูลข่าวสารเพื่อการบริหาร (e-MIS) มหาวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลข่าวสารเพื่อการวางแผนการตัดสินใจ จึงได้ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลแบบออนไลน์ในงานบุคคล งานติดตามการใช้งบประมาณ โดยงานเหล่านี้อยู่ภายใต้เครือข่ายนนทรี โดยบริหารจัดการแบบอินทราเน็ตภายใน
ผลการดำเนินงานล่าสุดที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ริเริ่มและดำเนินการแล้วคือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการถ่ายทอดสัญญาณภาพและเสียงผ่านเครือข่ายสารสนเทศ โดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายจากกล้องดิจิทัล (Digital Camera) เชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้สามารถกระจายและถ่ายทอดสัญญาณไปบนเครือข่ายสารสนเทศ ณ เวลาปัจจุบัน (Real Time) ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงด้านอุปกรณ์เหมือนกับระบบ Video Conference การดำเนินงานดังกล่าวทำให้สามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้ทุกขณะและทุกสถานที่ โดยปัจจุบันได้เชื่อมโยงเครือข่ายโทรทัศน์ 6 ช่อง ให้สามารถเผยแพร่บนเครือข่ายนนทรีและสามารถเก็บภาพย้อนหลังได้ 1 วัน เพื่อให้สามารถย้อนมาทบทวนได้ตามความต้องการ ในอนาคตอันใกล้จะสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อกิจการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ซึ่งรวมถึงการรายงานสภาพการจราจรภายในและบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัย การรักษาความปลอดภัยในมหาวิทยาลัย ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่ทันเหตุการณ์ ที่จะพัฒนาไปสู่การจัดตั้งเครือข่าย "KU TV" ต่อไป