นักพฤกษศาสตร์ มก. ค้นพบ พืชชนิดใหม่ของโลก “หนามแน่ขาวอัมไพ”

นักพฤกษศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
ค้นพบ พืชชนิดใหม่ของโลก “หนามแน่ขาวอัมไพ”
จากอุทยานแห่งชาติภูลังกา จังหวัดนครพนม
 
Kasetsart University - มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
         รศ. ดร. เฉลิมพล สุวรรณภักดี ผู้เชี่ยวชาญพืชสกุลหนามแน่ (Thunbergia) อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดร. สมราน สุดดี นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช ดร.ขวัญใจ รอสูงเนิน นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูลังกา และ Dr. David Middleton ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์แห่งสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ ร่วมกันตีพิมพ์พืชชนิดใหม่ของโลก “หนามแน่ขาวอัมไพ” ในวารสารนานาชาติ Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 49(1) หน้าที่ 57-62 ปี พ.ศ. 2564
         รศ. ดร. เฉลิมพล สุวรรณภักดี เปิดเผยว่า “หนามแน่ขาวอัมไพ” พืชชนิดใหม่นี้ ค้นพบโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา จังหวัดนครพนม ซึ่งทำการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (smart patrol) ในพื้นที่อุทยานฯ ได้พบไม้พุ่มกึ่งเลื้อยดอกสวยงามไม่ทราบชนิด บริเวณป่าดิบแล้งริมลำธาร ความสูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ 200 เมตร และได้ประสานส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช ติดตามเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ โดยดร.สมราน สุดดี จึงได้ประสานมาที่ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบ พบว่า ไม้พุ่มกึ่งเลื้อยดอกสวยงาม ดังกล่าว เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก
“หนามแน่ขาวอัมไพ” เป็นพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลหนามแน่ (Thunbergia) วงศ์ต้อยติ่ง (Acanthaceae) มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า ThunbergiaamphaiiSuwanph., K. Khamm., D. J. Middleton & Suddee คำระบุชนิด “amphaii” ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่นายอัมไพ ผาสีดา
          เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา ผู้ค้นพบพืชชนิดนี้ระหว่างทำการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ โดยมีชื่อไทยว่า “หนามแน่ขาวอัมไพ” ตามลักษณะสีดอกที่ออกขาวและตามชื่อผู้ค้นพบ ทั้งนี้ ตัวอย่างต้นแบบเก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้
          ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ของ “หนามแน่ขาวอัมไพ” เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย ลำต้นมีขนตามข้อ มีร่องตามยาว 2 ร่อง ใบเรียงตรงข้าม รูปรี รูปขอบขนานแกมรูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง 3.5-5 ซม. ยาว 12-14 ซม. ปลายแหลม เรียวแหลม หรือยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียว ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ 8-10 เส้น ปลายเชื่อมติดกันก่อนถึงขอบใบ ก้านใบแบนทางด้านบน มีขนสาก ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกที่ปลายยอด ช่อละ 3-8 ดอก ใบประดับ 2 ใบ รูปใบหอกแกมรูปแถบ ยาวประมาณ 2 มม. ใบประดับย่อย 2 ใบ สีขาวถึงขาวครีม รูปไข่แกมรูปรีถึงรูปไข่ กว้างประมาณ 1 ซม. ยาวประมาณ 1.5 ซม. โคนเชื่อมติดกันมากกว่าครึ่งของความยาว ปลายแยก มี เส้นตามยาว 7 เส้น กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกขนาดเกือบเท่ากัน 5 แฉก กลีบดอกสมมาตรด้านข้าง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด สีขาวถึงขาวครีม ด้านในบริเวณปากหลอดมีแต้มสีเหลืองหรือน้ำตาล ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก แยกเป็นกลีบบน 2 แฉก กลีบล่าง 3 แฉก เกสรเพศผู้ 4 เกสร แยกเป็น 2 คู่ยาวไม่เท่ากัน ก้านชูอับเรณูมีขนต่อมหนาแน่น อับเรณูโคนมีขน ผลแบบผลแห้งแตก โคนป่อง ปลายแหลม มีขนสั้น
ประกาศเมื่อ: 30 เมษายน 2564

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

นิสิตวิศวฯ ทีม ULTRA คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 โครงการ PTTEP Teenergy

หัวข้อ Provide จากผลงาน ULTRA DISINFECTION

ปีพ.ศ. 2564
6 มกราคม 2565
511
0
นิสิตวิศวกรรมวัสดุ คว้ารางวัลดีเลิศ ”องค์กร 4G หรือ 4 generation แห่งความสุข”

นิสิตวิศวกรรมวัสดุ คว้ารางวัลดีเลิศ ”องค์กร 4G หรือ 4 generation แห่งความสุข”

ปีพ.ศ. 2564
4 มกราคม 2565
545
0
นิสิตวิศวฯ อุตสาหการ ได้รับรางวัลเยาวชนคุณภาพแห่งปี 2021

นิสิตวิศวฯ อุตสาหการ ได้รับรางวัลเยาวชนคุณภาพแห่งปี 2021

ปีพ.ศ. 2564
4 มกราคม 2565
436
0